Blogroll

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตอนที่ 4 มหัศจรรย์ 130 ปี ไปรษณีย์ไทย : Miracle of 130th anniversary of Thailand post ตอนที่ 4: เคล็ดลับการบริหารกับความสำเร็จของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด

มหัศจรรย์ 130 ปี ไปรษณีย์ไทย :

 Miracle of 130th anniversary of Thailand post ตอนที่ 4: 

 เคล็ดลับการบริหารกับความสำเร็จของ Thailand Post.

      กิจการซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 125 ปี และประสบปัญหา "ขาดทุน" มาโดยตลอด ไม่มีใครคาดคิดว่าภายหลังการแปรสภาพและแยกตนเองออกจาก "การสื่อสารแห่งประเทศไทย" มาเป็น "บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด" เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 แล้ว องค์กรแห่งนี้จะอยู่รอดได้อย่างไร หากไม่มีรายได้จากกิจการโทรคมนาคมมาอุดหนุนเหมือนในอดีต


      แม้เมื่อครั้งที่รัฐบาลมีมติให้แปรรูปเป็นบริษัทจะตั้งงบประมาณหลายร้อยล้านบาทเผื่อไว้สำหรับอุดหนุนอุ้มชูกิจการในกรณีฉุกเฉิน แต่ใครจะเชื่อว่า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาหลังแปรสภาพแยกตัวออกมาเลี้ยงตัวเอง "บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด" ไม่เพียงไม่เคยต้องเบิกงบประมาณก้อนดังกล่าวมาใช้เลยแม้แต่บาทเดียว ยังสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรกด้วยซ้ำไป โดยในปี 2547 มีกำไรถึง 229 ล้านบาท หรือกับปี 2552 ก็มีกำไรสุทธิมากถึง 900 ล้านบาท และเคยมีกำไรสูงที่สุดถึง 1,250 ล้านบาท ในปี 2550 อีกด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่า รายได้รวมกว่า 15,000 ล้านบาท ล้วนทำมาหาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ไม่ได้พึ่งพิงสัมปทานใด ๆ อีกต่างหาก  สำหรับผลประกอบการบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด 
     ในปี 2555 สามารถประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายมีรายได้รวมทั้งสิ้น 18,256 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นรายได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งเป็นบริษัทไปรษณีย์ โดยมีกำไรสุทธิ 1,134 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 826 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 270 จากการขยายตัวของธุรกิจขนส่งที่โตขึ้นสามเท่าตัว และสร้างรายได้เป็นอันดับสองที่มูลค่า 7,121 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกลไกและทิศทางของตลาด อาทิ บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ หรือ ems บริการขนส่งสิ่งของในตลาดพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ และขนส่งสิ่งของขนาดใหญ่โลจิสติกส์ ขณะที่ธุรกิจสื่อสารที่เป็นการส่งจดหมาย เอกสารงานองค์กร ยังคงมีรายได้สูงสุดที่ 8,477 ล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจค้าปลีกที่สร้างรายได้ 1,118 ล้านบาท และธุรกิจการเงิน 832 ล้านบาท ขณะที่ทิศทางธุรกิจในปี 2556 ตั้งเป้าจะมีรายได้ประมาณ 19,000 ล้านบาท และจะมีกำไรสุทธิประมาณ 1,200 ล้านบาท  ถือเป็นความมหัศจรรย์ที่เหนือความคาดหมายเป็นอย่างยิ่ง  โฉมหน้า "ไปรษณีย์ไทย" ในปัจจุบันยังสดใส ทันสมัยมากกว่าเดิมหลายเท่า 

     นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ อดีตกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้กล่าวว่า การมองเห็นแนวโน้มการลดลงของปริมาณการส่งจดหมายในแต่ละปีเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้บริษัทต้องปรับบริการให้สอดรับกับยุคสมัย แม้รายได้จากธุรกิจส่งจดหมายและไปรษณียบัตรในปัจจุบันจะยังคงมีสัดส่วนมากถึง 75% แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ลูกค้าเริ่มนำ    อิเล็กทรอนิกส์เมล์และอิเล็กทรอนิกส์บิลมาใช้ทดแทนการส่งจดหมายบ้างแล้ว อีกทั้งทราฟฟิกการใช้บริการไปรษณีย์ยังขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจทำให้จำเป็นต้องเตรียมองค์กรไว้ล่วงหน้า
     "เครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ" คือจุดแข็งของไปรษณีย์ไทย และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาบริการ ใหม่ ๆ กลายมาเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ ด้านการขนส่งและการเงิน  "ไปรษณีย์ไทย" จึงไม่ใช่มีภารกิจแค่ส่งจดหมายหรือพัสดุขนาดเล็กเท่านั้น แต่รับส่งกระทั่งรถมอเตอร์ไซค์ ตู้เย็น เครื่อง ซักผ้า ทีวี ฯลฯ ที่มีน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 200 กิโลกรัม ผ่านบริการที่เรียกว่า "โลจิสโพสต์" ที่ส่งตรงถึงหน้าบ้านลูกค้าเลย
      "หรือถ้าอยากเสียค่าบริการถูกหน่อย จะมารับที่ไปรษณีย์เองก็เลือกใช้บริการ โลจิสโพสต์พลัสได้ บริการนี้ได้รับความนิยมมาก เปิดมาไม่กี่ปีมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจขนส่งทะลุ 10.5% ไปแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  จากแนวโน้มดังกล่าว "ไปรษณีย์ไทย" จึงมีการเปิดบริการใหม่อย่าง "เมสเซนเจอร์ โพสต์" ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้แค่รับส่งเอกสารธุรกิจ แต่ยังให้บริการสั่งซื้อกระเช้าของขวัญ ช่อดอกไม้ และพวงหรีดพร้อม จัดส่งได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
       อีกบริการที่โด่งดังมากคือ "อร่อยทั่วไทย สั่งได้ที่ไปรษณีย์ (YummyPost)" ที่ให้หนุ่มไปรษณีย์ส่งอาหารจากร้านดังทั่วไทยเกือบ 50 ร้าน ไม่ว่าจะเป็นแหนมเนืองร้านดังจากจังหวัดหนองคาย ลูกชิ้นปลาร้านดังจากภูเก็ต เป็นต้น รับประกันความอร่อย ส่งตรงถึงบ้านลูกค้า  อร่อยทั่วไทยสั่งได้ที่ไปรษณีย์อาจไม่ใช่บริการที่ทำเงินมากมายนัก แต่ช่วยได้มากเรื่องการสร้างแบรนด์ เพราะตั้งแต่เปิดบริการทำให้ชื่อไปรษณีย์ไทยถูกพูดถึงบ่อยครั้งด้วยความเชื่อมั่นในบริการ แม้แต่ของสดยังกล้าส่ง  บริการดังกล่าวยังคว้ารางวัลสุดยอดแคมเปญการตลาดแห่งปี 2009 จากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย 
      โดยถือเป็นความพยายามฉีกกรอบข้อจำกัดในการขนส่ง ทั้งประเภท รูปแบบ และน้ำหนักของสิ่งของที่นำส่ง เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า เขาเชื่อว่า แม้การเปิดเสรีจะผลักดันให้ไปรษณีย์ไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าสนามแข่งขันกับบริษัทขนส่งระดับชาติ แต่เชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจและรู้จักพื้นที่ในประเทศไทยได้ดีกว่า (บุรุษ)ไปรษณีย์ไทยอย่างแน่นอน  สุดท้ายแล้วแม้แต่ "คู่แข่ง" ก็ยังต้องเลือกใช้บริการของไปรษณีย์ไทยในการขนส่งพัสดุไปต่างจังหวัดอยู่ดี 

      "แต่จะให้เราไปเทียบชั้นยักษ์ใหญ่ขนาดนั้นคงลำบาก เขามีเครื่องบินเป็นของตัวเอง เราเป็นแค่บริษัทเล็ก ๆ ก็ต้องลงทุนแบบเล็ก ๆ ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป แต่ไม่เสี่ยง ไม่ขาดทุน" นายออมสินย้ำ


สำหรับบริการด้านการเงินในปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 6.4% ก็พัฒนาจากธนาณัติแบบเดิม เป็น "ธนาณัติออนไลน์" ที่ส่งเงินข้ามจังหวัดทั่วประเทศถึงมือผู้รับด้วยเวลาเพียง 15 นาที ทั้งต่อยอดพัฒนาระบบการให้บริการหน้าเคาน์เตอร์ในที่ทำการไปรษณีย์ให้มีขีดความสามารถด้านการชำระค่าบริการต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าการชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต เป็นต้น ด้วยบริการ "pay@post"   
ล่าสุดต่อยอดไปถึงการจับมือกับพันธมิตรหลายบริษัท ทั้งยักษ์มือถือเอไอเอส และบริษัท เบญจจินดา เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างเจรจากับคู่ค้าอีกหลายรายเพื่อให้บริการเติมเงินบริการโทรศัพท์มือถือ และชำระค่าโทรศัพท์มือถือแบบเรียลไทม์  และไม่ใช่เฉพาะให้บริการหน้าเคาน์เตอร์ไปรษณีย์เท่านั้น ก่อนหน้านี้ไปรษณีย์ไทยก็เคยร่วมมือกับ "ทรูมูฟ" ให้ "บุรุษไปรษณีย์" ที่ไปส่งจดหมายตามบ้านให้บริการเติมเงินมือถือของทรูมูฟได้แล้ว เรียกว่าเป็นบริการเติมเงินถึงบ้านลูกค้ากันเลยทีเดียว   ในเร็ว ๆ นี้ "บุรุษไปรษณีย์" ยังจะเป็นอะไรได้อีกหลากหลาย ทั้งตัวแทนขายประกันภัย ประกันอุบัติเหตุในราคาย่อมเยากับประชาชนโดยตรงอีกด้วย หลังจากได้รับใบอนุญาตจากกรมการประกันภัยแล้ว 

       นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงข่ายไอทีทั่วประเทศ หากเสร็จสมบูรณ์แล้ว เคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์อัตโนมัติ (New CA POS) จะพร้อม เชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์แบบเรียลไทม์ระหว่างที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งรวมถึงแฟรนไชส์ "ร้านไปรษณีย์ไทย" ที่มีกว่า 30 แห่ง ซึ่งจะทำให้การต่อยอดบริการทางการเงินร่วมกับพันธมิตรได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น อาทิ โครงการ "เคาน์เตอร์แสนสะดวก" ที่จับมือกับธนาคารกรุงไทยทดลองให้บริการ รับฝาก-ถอนเงิน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ บางสาขา เพื่อเตรียมขยายสายธุรกิจใหม่ Agency Banking 
       "แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม(ปี 2552) จีดีพีของประเทศติดลบ 3-4% กิจการไปรษณีย์ ชั้นนำของโลกหลายแห่งประสบภาวะขาดทุน ไปรษณีย์ไทยยังนับว่ามีสถานะทางการเงินที่ดีกว่ามาก สามารถฝ่าวิกฤตไปได้ โดยอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานทั้งองค์กรเพื่อช่วยกันสร้างแบรนด์ไปรษณีย์ไทย โดยเรามีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะสร้างพลังแห่งบริการคุณภาพให้มีความเที่ยงตรงและมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้าและสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน"

       ในปี 2553 ไปรษณีย์ไทยจะมุ่งขยายฐานรายได้ในธุรกิจขนส่ง โดยจะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ในการเป็นจุดกระจายผลไม้จากเกษตรกรไปถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยอาศัยศูนย์ไปรษณีย์ 14 แห่ง ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ร่วมถึงเข้าไปเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ช่วยในการกระจายสินค้า
ทั้งหมดถือเป็นการต่อยอดธุรกิจจากแก่นความสามารถดั้งเดิมที่มีอยู่ นั่นคือบุคลากรที่มีใจรักองค์กร มีประสบการณ์ด้านการขนส่ง และมีเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด 
 "ไปรษณีย์ไทย" จึงมาไกลกว่าจุดเริ่มต้นเดิมของตนเองมากนัก

Resource from:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น