Blogroll

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Thailand SMEs: The blind leading the blind !

Thailand SMEs: The blind leading the blind !


by อ.มานิต รัตนสุวรรณ



เมื่อตอนก่อตั้งพรรคไทยรักไทยใหม่ หนึ่งในกุนซือสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ของพรรค คือ คุณพันธุ์ศักดิ์ วิญญูรัตน์ ซึ่งมีประสบการณ์เพียบมาจากทีมงานบ้านพิษณุโลกของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ปรากฏว่าคุณทักษิณชื่นชมในกิตติศัพท์เลยชวนให้เข้ามาร่วมในทีมงานก่อตั้งพรรคและทีมเสนาธิการใหญ่ของพรรค
          จำได้ว่า หนึ่งในนโยบายที่คุณพันธุ์ศักดิ์เสนอคุณทักษิณที่สะดุดใจผมมากที่สุดคือ นโยบายส่งเสริม SME ไทยให้เป็นแกนหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แทบจะเรียกว่าจะต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติทีเดียว ซึ่งจริง ๆ แล้วผมฟังแล้วเห็นด้วยในหลักการ เพราะผมก็ผ่านการสอนหนังสือให้ SME ให้กับหอการค้าไทยทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแล้วเป็นเถ้าแก่น้อยในต่างจังหวัดที่มีศักยภาพสูง
          จะว่าไป ตัวผมเองก็ไม่ใช่มีภาพลักษณ์เป็นอาจารย์อย่างเดียว ถือว่าเป็น SME เป็นเถ้าแก่น้อยจากร้านห้องแถวเล็กๆ ของคุณแม่ มาจนถึงทำธุรกิจตัวเอง ทำโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเรียกว่าขนาดกลางก็ไม่ถนัด จะเรียกว่าขนาดย่อมก็ถือว่าใหญ่เหมือนกันเพราะโครงการทั้งหมดกว่า ๖๐ ไร่หลายร้อยล้านบาท แต่อย่างไรก็ถือว่าเป็น SME กับเขาเหมือนกัน ผมก็บอกว่าในทางทฤษฎีก็ดูดีน่าสนใจ แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้อย่างไร จะต้องทำอะไรกันบ้าง ใครคิดว่าเป็นเซียนก็เชิญ
          ผมว่าคนที่จะรู้เรื่อง SME จริงก็คือ ต้องเป็นคนที่เคยผ่านประสบการณ์การเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง ต้องรับผิดชอบหนี้สิน กู้แบ๊งค์ จ่ายดอกเบี้ย หาตลาด คุมการผลิต ยิ่งถ้าเคยผ่านวิกฤตการณ์ ๒๕๔๐ ตอนที่เศรษฐกิจพังพาบทั้งประเทศ เหมือนไฟไหม้ทั้งเมือง ต้องเจอเข้ากับตัวถึงจะเรียกว่ารู้จริง ผ่านมาจริง ไม่ใช่เป็นแค่ข้าราชการหรือนักวิชาการแต่ไม่เคยลงมือค้าขาย ไม่รู้หนาวรู้ร้อน
          ตัวผมเองจะว่าไป ธุรกิจส่วนตัวก็สาหัสไม่ได้พ้นจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว สร้างคอนโด ๕๐๐ ห้องมาได้ครึ่งทาง บริษัทเงินทุนล้มถูกรัฐบาลยึด โครงการทั้งหมดไปอยู่กับ ปรส. กลายเป็นหนี้เสีย ๔๐๐ ล้านบาททันที ผ่านคดีความมานับสิบ ใครไม่เคยเจอเข้ากับตนเองก็จะไม่รู้สึก ไม่ได้ลิ้มรสความเจ็บปวด เรียกว่าต้องเดินผ่านประตูไฟให้ตัวโดนไฟลวกมาก่อน แล้วยังไม่ตายถึงจะเรียกว่าแน่จริง ทุกวันนี้เหลียวหลังกลับไปก็ยังนึกไม่ออกว่ารอดมาได้อย่างไร
          ในยุคที่พรรคไทยรักไทยก่อตั้งนั้น อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังป่วยขั้นโคม่า ภาคเอกชนเป็นหนี้กันหลายแสนล้านบาท ประเทศพังยับเยินเพราะฤทธิ์นโยบายการเงินรัฐผิดพลาด ยุบ ๕๖ ไฟแนนซ์ ตามมาด้วยเงินบาทลอยตัว บริษัทใหญ่ก็ล้มเป็นระนาว ดูแล้วเป็นอนาคตทีมืดบอดไปนับสิบปี จนกลายเป็นศัพท์ว่า โรคต้มยำกุ้งไทย ที่ระบาดไปทั่วเอเชีย หลายประเทศเช่นมาเลเซียและเกาหลีรีบปิดประตูทัน แต่ประเทศไทยไปไม่รอด
          เพราะฉะนั้นเมื่อคุณพันธุ์ศักดิ์ เสนอไอเดียคุณทักษิณว่า ประเทศไทยที่แล้วมามัวพึ่งแต่บริษัทใหญ่ พอบริษัทใหญ่ล้ม ประเทศก็ล้มไปด้วย น่าจะหันไปใช้นโยบายของสหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งเสริมให้ขึ้นมาแข่งกับบริษัทใหญ่ให้ได้ เพราะประเทศไทยกว่าร้อยละ ๙๐ เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ถ้าเรากระจายความเสี่ยงสร้างบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้มากขึ้น อนาคตประเทศไทยก็จะแข็งแรง และเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน...เข้าท่าแฮะ
          ในทางทฤษฎีฟังดูดีครับ แต่จะทำได้เหมือนคุยหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่คือ สิ่งที่ผมกังขา เพราะ SME ไทยที่รวยเป็นบริษัทใหญ่ทุกวันนี้ วิ่งสู้ฟัดด้วยตัวเองทุกราย รัฐช่วยอย่างมากก็ทำ Road Show ผักชีโรยหน้า จัดงานผลาญงบที่เมืองทองธานีกับไบเทค แล้วอ้างว่า Matchingให้พ่อค้ารวย แล้วก็แอบอ้างเอาตัวเลขภาคเอกชนไปคุยว่าเศรษฐกิจรุ่งเรืองเท่านั้นเท่านี้ ส่งออกเท่านั้นเท่านี้ อพิโถ...เอกชนไทยเขาช่วยตัวเองทั้งนั้น รัฐมีแต่เอาตัวเลขของเขามาคุย ตัวเองค้าขายเป็นเสียที่ไหน
          สรุปทางแก้คือ ต้องหาวิธีสร้างคนจน หรือเถ้าแก่น้อยให้เป็นเถ้าแก่ใหญ่มากขึ้น เหมือนในต่างประเทศที่ GDP ของ SME สูงถึงกว่าร้อยละ ๕๐ ในขณะที่ประเทศไทยตอนนั้น(๒๕๔๓) GDP ของ SME อยู่ระดับร้อยละ ๔๒ เมื่อเทียบ GDP บริษัทใหญ่  แต่ถ้านับจำนวน บริษัทใหญ่จะมีเพียงไม่เกิน ๔,๐๐๐ รายจ้างงานคนได้ ๒ ล้านคน ในขณะที่ SME จะมีจำนวนมากกว่าเหลือคณานับ คือ กว่า ๒.๙ ล้านราย แต่จ้างคนได้กว่า ๘ ล้านราย แปลว่ากระจายรายได้จริง น่าจะช่วยส่งเสริม SME มากกว่า
           ผมก็นั่งฟังอยู่ด้วย ประชุมอยู่ด้วยก็ถือว่ารับฟังเซียน เป็นการเปิดหูเปิดตาเรื่อง SME ในแง่มุมมหภาคซึ่งผมไม่เคยมีมุมมองเรื่องนี้มาก่อนเลย ได้แต่วิ่งสู้ฟัดลงมือทำเอง ลุยเอง  แต่ฟังแล้วก็น่าสนใจ และคุณพันธุ์ศักดิ์ก็เสนอให้พรรคประกาศนโยบายส่งเสริม SME เป็นเรื่องใหญ่สุด ผมยังถามแกเลยว่าเอาเรื่องเดียวเลยหรือ ทำไมไม่เอาหลายๆ เรื่องและเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่ง ตอนนั้น แกก็ตอบว่าเอาเรื่องเดียวถ้าทำให้สำเร็จก็จะกลายเป็นการปฏิวัติเศรษฐกิจไทยได้เลย ผมรู้สึกว่าเป็นแค่หิ่งห้อยก็เลยเงียบ
          จริงๆ แล้ว ไม่เพียงแต่เรื่อง SME ยังได้มีการพูดถึงนโยบายเรื่อง OTOP หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยยกตัวอย่างหมู่บ้านโอตะ ในประเทศญี่ปุ่น และยกตัวอย่างโรงงานทำไวน์ชั้นเลิศในหมู่บ้านอิตาลี รวมถึงการพุ่งเป้าเอาสินค้าไทยไปจำหน่ายในห้างใหญ่ๆ ในยุโรป เช่น Harrod ซึ่งคุณทักษิณ สนิทสนมกับเจ้าของเป็นอย่างดี ทุกคนคุยกันจนเคลิบเคลิ้มกลายเป็นเรื่องสวยงาม สนุกสนาน น่าสนใจ จากนั้นก็มีการก่อตั้งพรรคเขียนนโยบายพรรคสวยหรู และ SME ก็กลายเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญด้วย ฝันหวานกันใหญ่
          ทันทีที่พรรคไทยรักไทยประกาศนโยบาย SME รัฐบาลช่วงนั้น คุณชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี คุณธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นขุนคลัง คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ปรากฏว่าคุณสุวัจน์เก่งกว่าเร็วกว่า รีบประกาศนโยบายแข่งกับไทยรักไทย ด้วยการเสนอให้มีการตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างรีบด่วน และประกาศนโยบายเรื่อง SMEตัดหน้าไทยรักไทย โดยการกู้เงิน ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท (ดอกเบี้ย ๔%) จากมิยาซาว่าของรัฐบาลญี่ปุ่น มารีบดำเนินโครงการเร่งด่วน ซึ่งเท่าที่ฟังก็มีการใช้เงินดังกล่าวไปเรียบร้อยในพริบตา เงินจะไปไหนผลอย่างไรไม่ทราบ แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ พรรคไทยรักไทยกลับพลิกล็อคชนะแบบฟ้าถล่มและเข้ามาเป็นรัฐบาล
          อีกสองปีต่อมา ผมถูกคุณหมอพรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช รองนายกรัฐมนตรีชวนให้ไปเป็นกรรมการบริหารของ สสว. ทันทีเข้าไปผมก็งงเป็นไก่ตาแตก เพราะจากแนวคิดของคุณพันธุ์ศักดิ์ ที่ผมเคยได้ยินแต่แรก แต่เมื่อไปถึงในทางปฏิบัติ มีการเขียนนโยบายและยุทธศาสตร์ SME อย่างสวยหรู บอกว่าจะเพิ่ม GDP ของ SME ไทยเท่านั้นเท่านี้ ปรากฏว่าสองปีต่อมา SME ไทยมีอัตราส่วน GDP ตกจาก ๔๒ % ลงมาเหลือ ๔๐ % ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แปลว่าดีแต่คุย เอาจริง ๆ ทำอะไรไม่ได้เลย
          ผมเห็นโครงการที่เสนอให้บอร์ดพิจารณาอย่างฝันหวาน ยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้ ๕ ปี มีแต่ Output ไม่มี Outcome ว่า SME ไทยจะเติบโตเท่าไร บริษัทไหนรวยเท่าไร กี่ราย ใครบ้าง สร้างรายได้ให้กับประเทศเท่าไร มีแต่จำนวนโครงการอบรมมากมาย มีจำนวนผู้เข้าอบรมมากมาย ใช้งบทำโน่นทำนี่เยอะแยะ แจกเงินให้คนนั้นคนนี้ไป ปรากฏว่าหายวับไปกับตา โครงการที่ขอเงินเข้ามามีแต่ Know Who ไม่มี Know How  โครงการนี้ก็คนนี้ขอมา ต้องให้ โครงการนั้นก็คนนั้นขอมา ต้องให้ ผมกลายเป็นฝ่ายค้านในบอร์ดอยู่คนเดียว เต็มไปด้วยความน่าเบื่อหน่าย เพราะมีค้านอยู่แค่คนสองคน พอสรุปทุกคนก็ให้ผ่านหมด ไม่มีใครกล้าหือแต่อย่างใด เป็นอย่างนี้ทุกเดือน แล้วงบก็หมดไปทุกปี ผมก็ได้แต่เซ็ง จะลาออกก็อิหลักอิเหลื่อเดี๋ยวจะกลายเป็นข่าวและเกรงใจคนที่เขาหวังดีอุตส่าห์ตั้งมา
          ปี ๒๕๔๙ เกิดปฏิวัติโดย คณะ คมช. หรือ ความมืดแห่งชาติ เขาก็ตั้งรัฐมนตรีใหม่บอร์ดใหม่ แล้วประเทศไทยก็มืดสนิทมา ๕ ปีเต็ม ผมก็ถอยห่างออกมา ปรากฏว่าผลงานของ สสว. คือ จากยุทธศาสตร์แผนที่สองอีก ๕ ปีต่อมา  ผล คือ GDP ของ SME กลับร่วงผลอยลงมาทุกปี จาก ๓๙ % เหลือ ๓๘ % สาละวันเตี้ยลงทุกปี เหลือแค่ ๓๗ % ในปีนี้และทำท่าจะหล่นไปเหลือ ๓๖ %
          สรุปว่าไม่ได้แก้ไขอะไรให้ดีขึ้นเลย ไม่เห็นจะสวยหรูเหมือนที่คุณพันธุ์ศักดิ์ฝันไว้ ยิ่งวันยิ่งเจ๊ง บรรดา SME ทั่วประเทศก็เหมือนเรือไททานิคจม SME ลอยแพเต็มทะเล ช่วยเหลือตัวเอง ใครเก่ง ใครโชคดีก็รอดไปรวย แต่ไม่มีเห็นใครรวยเพราะรัฐบาลช่วยสักราย (ยกเว้นร่ำรวยส่วนตัวเพราะแอบงาบงบโครงการรัฐบาล)
          ผมห่างจาก สสว.มาหลายปี เมื่อปีที่แล้ว คุณกิตติรัตน์ รองนายกรัฐมนตรี ท่านมีความตั้งใจดี คงเห็นว่าผมเป็นนักการตลาดน่าจะช่วย สสว.ได้ก็เสนอ ครม.แต่งตั้งผมเข้าไปเป็นบอร์ด สสว. โดยไม่ได้ถามผมก่อน ผมเลยวิ่งหน้าตั้งไปขอบคุณและขออนุญาตลาออก ช่วยตั้งคนอื่นเข้าไปแทนผมดีกว่า  เพราะผมเป็นบอร์ดมาหลายสมัยแล้ว เบื่อแล้ว สู้ไม่ไหว ไม่ได้อยากไปประชุมเพราะอยากได้เบี้ยประชุมหรอก ขออยู่ห่างๆ ดีกว่า เพราะการเมืองมันยุ่งเหลือเกิน สำนักงาน กระทรวงนี้ก็โควต้าของพรรคอื่น ขืนไปขวางทางเขาไว้เดี๋ยวเขาจะเคืองใจเสียเปล่า ๆ คุณกิตติรัตน์ท่านก็คงงง ๆ เพราะเห็นมีแต่ใครมาวิ่งเต้นอยากเป็นบอร์ด แต่ท่านก็จัดการให้ตามประสงค์ตั้งคนอื่นเข้าไปแทน
          ความจริงมาถึงวันนี้ผมคิดตกผลึกเข้าใจเรื่องนโยบาย SME ไทยเรียบร้อย มองเห็นทางแก้ไขชนิดยกเครื่องใหญ่รางๆ  เพราะผ่านการเป็นบอร์ดมาหลายสมัย ผ่านปลัดกระทรวงซึ่งมาเป็นประธานบอร์ดมาถึง ๓ ปลัดกระทรวง ตั้งแต่ท่านมนู ท่านจักรมนฑ์ ท่านดำริ จนกระทั่งปัจจุบันท่านวิฑูรย์ ผ่านรัฐมนตรีหลายคน รองนายกฯก็หลายคน ต่อสู้ในบอร์ดสู้จนหัวชนฝาแต่ ฝาไม่เคยพัง แต่หัวผมพังหน้าแตกมาตลอด ทุกคนก็มีหน้าที่เหมือนเป็นบอร์ดตรายาง เสนออะไรมาบอร์ดก็ต้องอนุมัติส่วนใหญ่(เพราะดูว่ามีคำสั่งเหนือเมฆกำกับมา) ทั้งที่หลายคนเก่งมีความคิดดี มีประสบการณ์ดี แต่ก็เบรกไม่ไหว เลยเป็นแค่หยดน้ำในทะเล
          ผมเคยเกริ่นเรื่องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ SME ใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ต้องสร้าง Marketing Infra-Structure ขนาดใหญ่สำหรับ SME อย่างถาวร เพราะที่แล้วมาถ้าไปเทียบกับเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย จากล้าหลังเราตอนนี้แซงขึ้นหน้าเราไปไกล นี่ไม่ต้องไปเทียบสิงคโปร์และไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งพัฒนาตัวเองไปลิบลับแล้ว ผมว่าเรากำลังหลงทางและกู่ไม่กลับ
          ผมเคยเสนอไอเดียเรื่อง การตั้งคณะกรรมการร่างยุทธศาสตร์ SME ระดับชาติ เชิญเซียนและกูรูในเมืองไทยมาเป็นคณะทำงาน เอาคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมาเป็นกรรมการ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการและภาคเอกชน เอาคนที่มีประวัติและผลงานเป็นที่รู้จัก มาช่วย ผมว่านักธุรกิจเหล่านี้เขาจะยินดีอย่างยิ่ง หรือจะจ้างบริษัทระดับโลก เช่น McKinsey หรือ World Bank หรือมือเซียนระดับโลก มาทำวิจัยและร่างแผนปฏิรูป SME แห่งชาติใหม่ แต่ปรากฏไม่มีใครสนใจ ผมว่าทุกคนคงคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ผู้บริหาร สสว.เก่งแล้ว บอร์ดเก่งพอแล้ว ล้วนแต่เซียนทั้งนั้น
          ครับ วันนี้ภาษาอังกฤษใช้คำว่า The blind leading the blind คนตาบอดที่ว่าน่าสงสาร เดินข้ามถนนยังไม่ถูก ยังอุตส่าห์นำทางคนตาบอดด้วยกันแก้ๆ กังๆ น่าสงสารด้วยกันทุกคน หรืออีกคำหนึ่งของไทย คือ ตาบอดคลำช้าง แค่คลำๆ แล้วก็บอกว่านี่ไงใช่แล้ว โครงการช่วย SME แต่ที่เจ็บใจก็คือ งบประมาณที่ใช้กันโครมๆ หมดไปทุกปี อ้างว่าช่วยเอสเอ็มอี อย่างนั้นอย่างนี้ สรุปแล้วเป็นเรื่อ Know Who ไม่มี Know How คุณขอมา เหมือนมือแม่นาค มือใครยาว ก็สาวได้สาวเอา วันนี้กลายเป็นงบเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศสนุกสนาน อ้างว่าไปดูงาน ยกทีมกันไปแทบทุกเดือน ผมได้แต่ดูด้วยความหดหู่ใจ อย่าให้ผมพูดมากกว่านี้เลยครับ ตอนนี้ก็เริ่มมีบัตรสนเท่ห์ว่อนเต็ม สสว. อีกแล้ว
          ที่พูดนี้ พูดได้แค่ครึ่งเดียว เพราะพูดมากกว่านี้จะไปกระเทือนผลประโยชน์ใคร เดี๋ยวจะทำให้รัฐบาลพลอยสะเทือน เพราะทุกวันนี้รัฐบาลก็อยู่ร่วมพรรคด้วยความลำบากใจอยู่แล้ว แต่นึกเสียดายเงินที่จ่ายไปทุกบาทแทบขาดใจ นี่ถือว่าแค่บ่นก็แล้วกันครับ   อันที่จริง ลึกๆ ผมก็เห็นใจท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนปัจจุบันที่ต้องมารับผิดชอบเป็นประธานกรรมการบริหารทำงานนี้ต้องทำงานด้วยความลำบากใจ ทั้งที่งานกระทรวงเต็มห้องไปหมด แถมยังมีเจ้านายมีใบสั่งมากมายทั้งในกระทรวงและนอกกระทรวง สภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหมือนประธานคนก่อนๆ แทบทุกคน เพราะเหนือฟ้ายังมีฟ้า
          ผมว่า เรื่อง SME ตอนนี้ใครๆ ก็พูดกันใหญ่ ทุกกระทรวงทำเรื่อง SME หมด กระทรวงพาณิชย์ ก็มีโครงการ SME ทั้ง ๓ กรม กรมส่งเสริมการส่งออก กรมพัฒนาธุรกิจ แถมยังกรมการค้าภายในก็เอากับเขาด้วย(ธงฟ้า) กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็ทำเรื่อง SME เป็นว่าเล่น กระทรวงเกษตรฯ ก็มีกรมส่งเสริมการเกษตร ก็ทำเรื่อง SME ภาคเกษตร และวิสาหกิจชุมชน กระทรวงมหาดไทยก็ทำเรื่องโอท็อป ซึ่งก็ถือว่าเป็น SME ขนาดเล็ก สำนักนายกฯก็มีหน่วยงาน สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยงาน TCDC ซ่อนอยู่ แม้ตอนนี้นายกฯปู ก็แสดงความสนใจเรื่อง SME สั่งการตลอด แต่ทั้งหมดนี้ไม่มี Road Map จริงๆ เลย หรือมีแต่อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้
          ครับ ถ้าเป็นร้านอาหารก็มีพ่อครัวมากมาย ทำอาหารจานเดียวกัน แย่งกันทำ มิใช่แบ่งกันทำ ถ้าเป็นกีฬาก็เหมือนเล่นรักบี้สนามเดียวแต่มีลูกรักบี้คนละลูก ต่างคนต่างวางทรัย พอถึงสิ้นปีผลของ GDP ของ SME ก็โดนบริษัทใหญ่ทิ้งห่างหนักเข้าไปอีก ก็ไม่เห็นมีใครสนใจจะคิดแก้ไขอะไร ถือว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน ฉันก็ทำของฉัน งบของก็ของฉัน โครงการก็ของฉัน พยายามใช้งบให้หมดๆ มิฉะนั้นปีหน้าจะของบได้ยาก จะโดนตัด สรุปก็พายเรืออยู่ในอ่างมาเป็นสิบปีแล้ว ยังไม่ไปไหนเลย
          ผมเคยคุยกับประธาน Jetro ในเมืองไทย ชาวญี่ปุ่น แอบถามว่า รัฐบาลญี่ปุ่นใช้งบช่วย SME ปีละประมาณเท่าไร เขาก็บอกว่าประมาณ ๘ หมื่นล้านบาทต่อปี ผมเคยถามผู้แทน World Bank ที่ไปช่วยรัฐบาลมาเลเซียพัฒนา SME จนรุ่งโรจน์ว่า รัฐบาลมาเลเซียอัดงบช่วย SME ปีละเท่าไร เขาก็บอกว่าประมาณ ปีละหนึ่งหมื่นล้านบาทไทย แต่เขาทำจริงๆ แบบครบวงจร ทำไม่กี่เรื่อง ไม่กี่โครงการ ไม่กระจายเป็นงบเล็กงบน้อยเป็นเบี้ยหัวแตกแบบรัฐบาลไทย
          เขาถามผมว่ารัฐบาลไทยใช้งบ SME เท่าไร ผมก็อายไม่กล้าตอบ งบ สสว.เองตอนนี้เหลือปีละไม่กี่ร้อยล้านบาท(จากเดิมหลายพันล้านบาทต่อปี) เพราะโดนตัดเรียบเนื่องจากผลงานไม่เข้าตา แต่งานกระจายอยู่ทุกกระทรวง แต่วันนี้แต่ละคนเขาก็แอบงุบงิบทำกันเองมีงบไม่บอกใคร
          ผมเพียงแต่บอกว่า แค่งบกระทรวงอุตสาหกรรมปีละยังไม่ถีงหนึ่งหมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นคิดดูแล้วกัน สสว. จะได้งบเกินหน้าเกินตากระทรวงได้อย่างไร เหลืออยู่ทางเดียวคือ ต้องกล้าตั้งกระทรวง SME ขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราวโดยเฉพาะ จึงจะแสดงว่ารัฐบาลให้ความสำคัญจริง เอาจริง และรู้จริง แต่พูดทีไรคนก็สั่นหัวไม่เห็นด้วย เพราะทุกคนอยู่ใน Comfort Zone อยู่อย่างเก่าสบายดีแล้ว
          เพราะแค่แยกกระทรวงพาณิชย์กับอุตสาหกรรม(และแบ่งโควต้าคนละพรรค) ในขณะที่หลายประเทศเขารวมเป็นกระทรวงเดียวกันแล้ว เช่น ญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry) หรือเกาหลี (Ministry of Trade, Industry & Energy) แสดงว่าเขาปรับเป็นอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ใช้การค้านำ มิใช่อุตสาหกรรมยุคโบราณที่ใช้การผลิตนำ (Marketing Era 1.0) โครงสร้างนี้ใช้มาตั้งแต่สมัย ร.๕ แล้วครับ ตอนนี้เปลี่ยนยุคเป็น Marketing Era 4.0 แล้วนะครับ
          ผมว่าไหนๆ ก็ไหนๆ ทำไมไม่เอาแบบเกาหลี ผมว่าเข้าท่าสุด เอา ๓ กระทรวง คือ พาณิชย์ อุตสาหกรรม และพลังงานมารวมกัน เพราะถือเป็นกระทรวงเศรษฐกิจจริงๆ ควบคุมพ่อค้าใหญ่ให้ทำงานจริงๆ ไม่เอาเปรียบพ่อค้าเล็ก ไม่ผูกขาด ถ้าเก่งจริงดีจริงมีฝีมือจริง ก็ทั้งยุทั้งช่วยให้ไปแข่งระดับโลกเลยยิ่งในยุค AEC นี่แหละ เพื่อเอาเงินเข้าประเทศ ส่วนพ่อค้าเล็ก ก็ตั้งกระทรวง SME ดูแลส่งเสริมพ่อค้าขนาดกลาง ขนาดย่อม พวก Micro SME พ่อค้าปลีก พ่อค้าย่อย ไปจนถึง OTOP และวิสาหกิจชุมชน ใช้งาน รวบสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับ TCDC และ สวทช. มาใช้เป็นหัวหอกแยกงานให้ชัดกันไปเลย สร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ สร้างดาวรุ่งระดับโลก ผมว่าถ้ากล้าคิดอย่างนี้ถึงจะเรียกว่า คิดใหม่ ทำใหม่จริง แล้วหารัฐมนตรีที่ตาถึง ใจถึง มือถึง มือระดับโลก มาดูแล อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าแน่จริง คิดการณ์ไกลจริง ใช้รัฐมนตรีน้อยลงด้วย ข้าราชการจะได้คิดใหม่ ทำใหม่ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ไปด้วย
           ครับ ผมว่าช่วงนี้เอาแค่ง่ายๆ ไปก่อน รัฐบาลคุณปูน่าจะเอาโควต้ากระทรวงอุตสาหกรรมมาดูแลเองจะได้ทำงานสอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ดีกว่า (แลกกับกระทรวงอื่นไป) รวมถึงเอา สสว.มาดูแลเองเมื่อไร  ผมคงจะช่วยจาระไนให้ฟังได้มากกว่านี้ แล้วทำแค่เรื่องใหญ่ๆ ไม่กี่เรื่องก็พอ เพราะมองเห็นจากในสายตาคนนอก (Outside In)  แต่ผมคิดว่าวันนี้คงไม่มีใครอยากคิดอยากฟัง ถือว่า SME เป็นงานผักชีโรยหน้าประดับรัฐบาล ทำแต่งานจิ๊บๆ  งบที่มาก็เลยเป็นพิธีบูชายันตร์ เลยแค่ดูดีแต่น่าสงสารและสิ้นหวัง (สสว.) สมกับชื่อ เพราะมีแต่โครงการอบรมๆ กับยกทีมดูงานต่างประเทศกันแหลก ไล่แจกเงิน แล้วก็บอกว่า ตรงเป้าหมาย”  
          หรือผมว่า ก็ปล่อยไปตามยถากรรมอย่างนี้เถอะ ถือว่าเป็นกรรมของประเทศไทย เป็นวิบากกรรมพ่อค้า SME ไทย ก็แล้วกัน ใครเก่งก็เอาตัวรอดไปเถอะ ใครไม่เก่งก็ถือว่าเป็นกรรม อย่าได้หวังว่าจะมีอะไรจากรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนเลยครับ แค่สู้กับฝ่ายค้านเอาตัวรอดไปเดือนๆ ได้ก็เก่งแล้ว ยิ่งมีขบวนการเหนือเมฆคอยจ้องล้มรัฐบาล ทำอะไรก็คอยจับผิดคอยขัดขา คิดอะไรใหญ่ๆ ไกลๆ ก็จะมีคนขวางแหลก
          เฮ้อ..ร้องเพลง กลุ้มใจ ไม่มี ล.ลิง หรือเพลงผักชีโรยหน้า ของอัสนี-วสันต์ ดีกว่า

Resource from:
by อ.มานิต  รัตนสุวรรณ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น