Blogroll

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

AEC กับจุดอ่อนในการรวมตัวของอาเซียน

AEC กับจุดอ่อนในการรวมตัวของอาเซียน




เมื่อย้อนกลับไปซัก 10 ปีที่แล้วที่ดิฉันตัดสินใจไปเรียนต่อโทและเอกในสาขา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ดิฉันเคยโดนถามจากอาจารย์และเพื่อนๆ หลายคนว่าจะไปเรียนทำไม ในช่วงเวลานั้น  คนไทยส่วนน้อยมากที่จะทราบว่า ASEAN คืออะไร และทำหน้าที่อะไร บางครั้งดิฉันต้องเสียเวลาอธิบายอ
ยู่นานว่าอาเซียนคืออะไร

จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มทราบมากขึ้นว่าASEAN มีบทบาทอย่างไรต่อภูมิภาค และเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ  ยิ่งรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆของบ้านเราให้ความสำคัญกับการเปิดประชาคมอาเซียน รวมทั้งการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วยแล้ว ทำให้ยุคของอาเซียนในประเทศไทยยิ่งเฟื่องฟูมากขึ้นไปอีก ดิฉันคิดว่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านเราประเทศอื่นๆมากนัก
 

หน่วยงานต่างๆ ก็เร่งให้ความรู้ต่อบุคลากรของตน ให้ผิดบ้างให้ถูกบ้าง คละเคล้ากันไป !
 

แม้ว่าการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียนจะนำมาซึ่งความแข็งแกร่งของภูมิภาคในเวทีโลกทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้วการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียนไม่ได้โปรยด้วยกลีบกุหลาบ 

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ความแตกต่างในด้านต่างๆของสมาชิกในกลุ่มอาเซียน เช่น ความหลากหลายในชาติพันธุ์ เชื้อชาติ และ ภาษา จำนวนภาษาที่มีใช้อยู่ในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 17 ของภาษาที่มีใช้อยู่ในโลก ความแตกต่างทางวัฒนธรรมเหล่านี้ย่อมส่งผลถึงความแตกต่างทางแนวคิด วิถีชีวิต การทำงาน และบุคลิกของประชาชนในอาเซียนด้วย


ยกตัวอย่างเช่น คนสิงคโปร์ มีกฎระเบียบที่เคร่งครัด ไม่มีการยืดหยุ่น ชาวเวียดนามต้องผ่านสงครามมาหลายครั้งมีความกระตือรือร้น และมีวินัยสูง ส่วนคนไทยและฟิลิปปินส์ มีลักษณะคล้ายกันคือ ไม่ค่อยทำตามกฎที่วางไว้ ส่วนประเทศ อินโดนีเซีย กัมพูชา และลาว การทำงานขาดความกระตือรือร้น และการตัดสินใจในเรื่องต่างๆก็ล่าช้า  

นอกจากวิถีชีวิตทั่วไปแล้ว ด้านการศึกษา และเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกก็มีช่องว่างที่ต่างกันมาก เช่น สิงคโปร์มีนโยบายการศึกษา Teach Less, Learn More หรือ TLLM คือให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเองนอกห้องเรียนมากกว่าให้ครูเป็นคนสอน ในขณะที่พม่า ไทย และ ลาว นั้นยังคงเน้นการเรียนรู้ภายในชั้นเรียน ให้ท่องจำมากกว่าให้รู้จัดคิดวิเคราะห์ จึงเห็นได้ว่านักเรียนจาก 3 ประเทศนี้ไม่ค่อยกล้าแสดงออกเหมือนนักเรียนจากสิงคโปร์ เป็นต้น 



จากความแตกต่างเหล่านี้จึงทำให้เห็นว่าการพัฒนาสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แม้ว่าการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นอาจส่งผลต่อการขยายตลาดทางเศรษฐกิจให้กับประเทศสมาชิก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีจุดอ่อนอยู่หลายประการอันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จของประชาคม และอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของประชาชน รวมทั้งการลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศอีกด้วย 


ความแตกต่างของประเทศสมาชิกที่อาจกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญต่อของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประการแรก คือ ความแตกต่างทางสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก หากเปรียบเทียบรายได้ของประชาชนในประเทศสมาชิก หรือ GDP Per Capita จะพบว่าช่องว่างระหว่างประเทศที่รวยที่สุด และจนที่สุดมีความแตกต่างกันมาก ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีรายได้ต่อคนต่อปีเฉลี่ยที่ระดับ 50,714 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปี 2554 ที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) จัดให้เป็นประเทศที่คนร่ำรวยเป็นอันดับที่ 11 ของโลก จากการจัดอันดับทั้งหมด 183 ประเทศ รองลงมาคือ บรูไน ($36,521 อันดับที่ 25) มาเลเซีย ($8,617 อันดับที่ 67) ประเทศไทย ($5,281 อันดับที่ 89) อินโดนีเซีย ($3,469 อันดับที่ 107) ฟิลิปปินส์ ($2,255 อันดับที่ 125) เวียดนาม ($1,362 อันดับที่ 140) ลาว ($1,204 อันดับที่ 144) กัมพูชา ($912 อันดับที่ 152)


และอันดับสุดท้าย คือประเทศพม่าที่มีระดับรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี ที่ระดับ 804 ดอลลาร์สหรัฐ และอยู่ที่อันดับ 156 ของโลก  ตัวเลขทาง GDP แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจับจ่ายของประชาชนในแต่ละประเทศ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นสิงคโปร์มีความสามารถในการจับจ่ายมากกว่าประเทศพม่าอยู่หลายเท่า 

นอกจากนี้ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ได้การคำนวณ Human Development Index ของ 187 ประเทศทั่วโลกขึ้น เพื่อเปรียบเทียบระดับการพัฒนาและการลงทุนในการพัฒนาศักยภาพของประชาชนของประเทศ  โดยแบ่งระดับการพัฒนาเป็น 4 ระดับ คือ ระดับพัฒนาสูงมาก  ระดับพัฒนาสูง พัฒนาปานกลาง และ พัฒนาระดับต่ำ (Low Human Development)จากรายงานดังกล่าวพบว่า สิงคโปร์ และบรูไนติดอันดับประเทศที่มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับสูงสุด ในอันดับที่ 26 และ 33 ตามลำดับ มาเลเซียอยู่ลำดับที่ 66 ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับสูง


ในขณะที่บ้านเรา อยู่ในระดับกลาง ที่อันดับที่ 103 โดยมีพม่าอยู่อันดับที่ 149 ซึ่งถือว่ามีระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับต่ำ จึงเห็นได้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมีความแตกต่างในด้านสถานะทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเป็นอย่างมากซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป

จุดอ่อนประเด็นที่ 2 คือ ความแตกต่างในระบบการเมือง การปกครอง ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน บางประเทศเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย เช่น ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ บางประเทศมีการปกครองแบบอำนาจนิยม เช่นสิงคโปร์ และ กัมพูชา บางประเทศเป็นการปกครองแบบรัฐบาลทหาร เช่น พม่า นอกจากนี้บางประเทศยังมีการปกครองแบบรัฐรวมศูนย์ แต่บางประเทศเป็นการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นต้น ความแตกต่างในการเมือง การปกครองนี้ ทำให้อำนาจในการสั่งการของรัฐบาล และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมย่อมแตกต่างกันไป การจะพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เท่าเทียมกันเพื่อลดช่องว่างความยากจนของประเทศสมาชิกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมในแนวทางเดียวกัน 


รัฐบาลของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการปรับนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของตนไปในทิศทางเดียวกับประเทศสมาชิกอื่น เป็นการยากที่ประเทศที่มีพื้นฐานทางการเมืองการปกครอง และระบบการปกครองที่ต่างกันจะปรับนโยบายมาในทิศทางเดียวกันซึ่งถือเป็นการท้าทายที่สำคัญยิ่งของอาเซียน

จุดอ่อนที่ 3 คือ การตัดสินใจในนโยบายต่างๆโดยใช้ระบบฉันทามติ หรือ Consensus ระบบฉันทามตินี้ได้มีการใช้ภายในกลุ่มสมาชิกอาเซียนเพื่อการตัดสินใจในนโยบายต่างๆตั่งแต่มีการก่อตั้งอาเซียน กล่าวคือนโยบายต่างๆที่กำหนดขึ้นนั้นจะเป็นที่ยอมรับ และปฏิบัติจริงระหว่างประเทศสมาชิกก็ต่อเมื่อทุกประเทศเห็นพ้องร่วมกัน หรือมีฉันทามติร่วมกัน หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งคัดค้านก็ถือว่านโยบายนั้นเป็นอันตกไป  ลักษณะการตัดสินใจเช่นนี้อาจเป็นอุปสรรคของสมาชิกอาเซียนในการดำเนินนโยบายร่วมกัน นโยบายหนึ่งอาจให้ประโยชน์กับหลายประเทศ  แต่หากขัดผลประโยชน์ประเทศสมาชิกใดและประเทศนั้นไม่ลงมติเห็นชอบด้วยแล้ว นโยบายนั้นก็จะเป็นอันตกไปซึ่งนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลต่อการพัฒนาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวม 

ดังนั้นอาเซียนควรพิจารณารูปแบบการตัดสินใจแบบอื่นๆ ในการพิจารณาการกำหนดนโยบาย หรือตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมภายในของอาเซียน เช่น อาจนำระบบเสียงส่วนใหญ่ (Majority vote) มาใช้กับกระบวนการตัดสินใจของอาเซียน แต่สมาชิกคงต้องหารือที่จะกำหนดแนวทางและขอบเขตของระบบเสียงส่วนใหญ่ เพื่อให้มีความชัดเจนและโปร่งใสในการพิจารณาเรื่องสำคัญๆ ที่ประเทศสมาชิกจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน การใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่จะช่วยผลักดันนโยบายของอาเซียน และ AEC ให้เป็นรูปธรรมได้มากขึ้น และนำมาซึ่งการพัฒนาขององค์กรโดยรวมต่อไป

Resource From:
by พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น