Blogroll

วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตอนที่ 1 มหัศจรรย์ 130 ปีไปรษณีย์ไทย : Miracle of 130th anniversary of Thailand post; จุดเริ่มต้นของ "กรมไปรษณีย์" เส้นทางสู่ "บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด"

             จุดเริ่มต้นของ "กรมไปรษณีย์" เส้นทางสู่ 
"บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด"



การขนส่งจดหมายเป็นภารกิจหลักของกรมไปรษณีย์ไทยมาแต่ดั้งเดิม ในปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราชได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ทรงจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศสยาม พระองค์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษี สว่างวงศ์ฯ

 ทรงเตรียมการจัดตั้งการไปรษณีย์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ และทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ฯ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์เป็นพระองค์แรก และได้เปิดรับฝากส่งหนังสือ(จดหมาย)ในเขตพระนครและธนบุรีเป็นการทดลอง


จนในที่สุดการไปรษณีย์ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็น “กรมไปรษณีย์อย่างเป็นทางการขึ้น ในวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ (๔ สิงหาคม จึงถือเป็น วันสื่อสารแห่งชาติ) โดยมีที่ทำการไปรสะนียาคารแห่งแรก ที่ ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลราชบูรณะ และอาคารในพระราชอุทยานสราญรมย์


ถือเป็นจุดกำเนิดของกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย  ต่อมาดร. สเตฟัน (Stephan) ผู้สำเร็จราชการไปรษณีย์เยอรมัน ได้แสดงความเกื้อกูลกิจการไปรษณีย์ไทยก่อนชาติอื่น เมื่อกรมไปรษณีย์ของไทยได้ก่อตั้งขึ้นมา ๒ ปีแล้ว รัฐบาลเยอรมันีจึงได้ทำหนังสือเชิญชวนเข้าร่วมกับสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นควรว่า ไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญว่าเป็นโอกาสอันดีให้ประเทศไทย

ก้าวเข้าสู่เวทีระดับโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ราชทูตไทยประจำกรุงปารีสในเวลานั้น เป็นผู้ติดต่อประสานงาน และว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการไปรษณีย์จากต่างประเทศเข้ามาช่วยปรับปรุงกิจการไปรษณีย์ไทยให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ   และในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๒๘ ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก “สหภาพสากลไปรษณีย์” พร้อมกับ กรมไปรษณีย์ได้เปิดที่ทำการแห่งที่สองขึ้นเพื่อให้บริการรับฝากและจำหน่ายไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศอย่างเป็นทางการ

 ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านกิจการไปรษณีย์ของไทย ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาว่าจ้างชาวต่างชาติผู้มีความเชี่ยวชาญมาปฏิรูปกิจการไปรษณีย์ เช่นเดียวกับการปฏิรูปบ้านเมืองด้านอื่นๆ ในครั้งแรกนั้นได้มีการพิจารณาจะว่าจ้างชาวฝรั่งเศสชื่อ เมอสิเออร์เบิดเทเลีย แต่กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช เกรงว่าจะเป็นการซ้ำยกกรมไปรษณีย์ของสยามให้แก่ฝรั่งเศสอีกชั้นหนึ่ง และขณะเดียวกันในเวลานั้นฝรั่งเศสได้ขยายอาณานิคมมาประชิดดินแดนสยามในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหากฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในกิจการโทรคมนาคมไทย ย่อมทำให้มีอิทธิพลในประเทศมากยิ่งขึ้น 
 ส่วนผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษนั้นได้เข้ามาปฏิบัติงานด้านไปรษณีย์ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์อยู่ก่อน แต่เนื่องจากว่าผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ และกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ได้แสดงทีท่าว่าต้องการให้กิจการไปรษณีย์ของไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลอังกฤษ ไทยจึงต้องไม่ว่าจ้างอังกฤษเช่นเดียวกับที่ปฏิเสธฝรั่งเศส 
          จากนั้นจึงได้มองที่เยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ที่แสดงให้เห็นความพร้อมเสมอมาในการต้องการช่วยเหลือเกื้อกูลกิจการไปรษณีย์ไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดชเห็นพ้องกันว่า ควรว่าจ้างผู้ชำนาญการซึ่งเป็นข้าราชการชาวเยอรมันมาฝึกสอนข้าราชการไทยรวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านกิจการไปรษณีย์ด้วย
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งด่วนให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ติดว่าชาวเยอรมันในการดังกล่าว และทรงมอบหมายให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมประชุมสหภาพสากลไปรษณีย์ในปี ๒๔๒๗ ณ กรุงเบอร์ลินด้วย ภายหลังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์เสด็จกลับจากปารีสมาดำรงตำแหน่ง จางวางกรมไปรษณีย์ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๒๙ กิจการไปรษณีย์ไทยจึงได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ
          ในส่วนของกิจการโทรเลขภายใต้การดำเนินงานของกรมโทรเลขนั้น ในระยะแรกนั้นทั้งอังกฤษ และฝรั่งเศส ต่างยื่นข้อเสนอในการวางระบบโทรเลขให้ไทยเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ แต่รัฐบาลอาจเป็นกังวลเกี่ยวกับการที่ประเทศมหาอำนาจล่าอาณานิคมทั้งสองจะสามารถติดต่อสื่อสารกับสายลับในและต่างประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงยืนยันว่าไทยจะเป็นผู้วางระบบเอง จากนั้นกิจการโทรเลขไทยก็ได้มีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ ประเทศไทยก็ได้เข้าเป็นสมาชิก สหภาพโทรเลขระหว่างประเทศ”(หรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ITU ในปัจจุบัน)
จะเห็นได้ว่า กิจการไปรษณีย์ และกิจการโทรเลข นั้นคือ งานบริการประชาชนเพื่อติดต่อสื่อสาร ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รวม กรมไปรษณีย์ และ กรมโทรเลข เป็นกรมเดียวกัน
 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมทั้งสองกรมไว้เป็นกรมเดียวกันชื่อว่า กรมไปรษณีย์โทรเลขตั้งแต่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็นต้นมา
ก่อนที่ภายหลังจะได้โอนกิจการโทรศัพท์กรุงเทพฯและธนบุรีให้องค์การโทรศัพท์แห่งประทศไทย
ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการจัดตั้ง การสื่อสารแห่งประทศไทย โดย พรบ.การสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยรับมอบกิจการด้านปฏิบัติการและกิจการให้บริการไปรษณีย์จากกรมไปรษณีย์ โทรเลขมาดำเนินการ เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2520 และได้ปรับปรุงพัฒนาบริการมาตลอด
พ.ศ. 2542 รัฐบาลมีนโยบายแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ กิจการไปรษณีย์ถูกแยกออกจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย และก่อตั้งเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2546 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยปรับปรุงภาพลักษณ์องค์กรใหม่ พัฒนาคุณภาพบริการ และขยายขอบเขตการให้บริการในเชิงธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

 ภาพ ไปรสนียาคารจำลอง บริเวณสะพานพระปกเกล้า



Resource from :


"ไปรษณีย์ไทย:ปฏิวัติสำเร็จ "ใน http://www.brandage.com/Modules/DesktopModules/Article/ArticleDetail.aspx?tabID=2&ArticleID=1458&ModuleID=21&GroupID=474


"หน่วยงานโทรคมนาคมแรกแห่งสยามในรัชกาลที่ ๕"ใน
 http://www.torakom.com/article_index.php?sub=article_show&art=309


สมเด็จ วังบูรพา” บิดาการสื่อสารไทย ใน
 http://www.torakom.com/article_index.php?sub=article_show&art=304


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น